ตรวจอาการเบื้องต้น: รู้จักโรคปลายประสาทอักเสบ และ 6 วิธี ลดอาการปวดปลายประสาท ภาวะปลายประสาทอักเสบ (Peripheral neuropathy) เป็นโรคทางระบบประสาทส่วนปลาย ซึ่งเป็นผลมาจากความเสียหายต่อเส้นประสาทที่อยู่นอกสมองและไขสันหลัง อาจเกิดจากการบาดเจ็บ การติดเชื้อ ปัญหาการเผาผลาญ การสัมผัสสารพิษ และสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดคือโรคเบาหวาน ทำให้เกิดอาการอ่อนแรง ชา และปวด ซึ่งมักเกิดขึ้นที่มือและเท้า นอกจากนี้ยังอาจส่งผลกระทบต่ออวัยวะและการทำงานของร่างกาย เช่น ระบบย่อยอาหาร การขับถ่ายปัสสาวะ และการไหลเวียนของเลือด
ผู้ที่เป็นโรคปลายประสาทอักเสบมักบรรยายความเจ็บปวดว่าคล้ายถูกเข็มแทง แสบร้อน หรือคล้ายแมลงไต่ ส่วนใหญ่อาการดีขึ้นเมื่อเข้ารับการรักษาอย่างถูกต้อง
อาการของโรคปลายประสาทอักเสบ
เส้นประสาทส่วนปลายมีหน้าที่เฉพาะ ดังนั้นอาการจะขึ้นอยู่กับประเภทของเส้นประสาทที่ได้รับผลกระทบ ดังนี้
– เส้นประสาทรับความรู้สึก (Sensory nerves) เส้นประสาทที่เชื่อมต่อกับผิวหนัง ที่ทำให้เกิดความรู้สึกต่างๆ เช่น อุณหภูมิ ความเจ็บปวด การสั่นสะเทือน หรือการสัมผัส
– เส้นประสาทสั่งการ (Motor nerves) เส้นประสาทที่เชื่อมต่อกับกล้ามเนื้อ ควบคุมการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ
– เส้นประสาทอัตโนมัติ (Autonomic nerves) เส้นประสาทที่เชื่อมต่อกับอวัยวะภายใน ควบคุมการทำงานของอวัยวะต่างๆ เช่น ความดันโลหิต การขับเหงื่อ อัตราการเต้นของหัวใจ การย่อยอาหาร และการทำงานของกระเพาะปัสสาวะ
ปลายประสาทอักเสบ อาการที่พบบ่อย ได้แก่
– เริ่มมีอาการชา เหน็บ หรือรู้สึกเสียวที่เท้าหรือมือ ซึ่งสามารถลุกลามไปถึงขาและแขนได้
– รู้สึกคล้ายถูกของมีคมทิ่มแทง หรือปวดแสบปวดร้อน
– ไวต่อการสัมผัสมาก
– รู้สึกปวดระหว่างทำกิจกรรมที่ไม่ควรทำให้เกิดอาการปวด เช่น ปวดเท้าเมื่อลงน้ำหนักหรือเมื่ออยู่ใต้ผ้าห่ม
– เสียการทรงตัว และหกล้มง่าย
– กล้ามเนื้ออ่อนแรง
– รู้สึกเหมือนสวมถุงมือหรือถุงเท้าทั้ง ๆ ที่ไม่ได้สวม
– เป็นอัมพาตหากเส้นประสาทสั่งการ ได้รับบาดเจ็บรุนแรง
– แพ้ความร้อน
– เหงื่อออกมาก หรือไม่สามารถขับเหงื่อได้
– มีปัญหาลำไส้ กระเพาะปัสสาวะ หรือระบบย่อยอาหาร
– ความดันโลหิตลดลงทำให้เกิดอาการวิงเวียนศีรษะหรือหน้ามืด
สาเหตุของโรคปลายประสาทอักเสบ
ภาวะปลายประสาทอักเสบ เป็นความเสียหายของเส้นประสาทที่เกิดจากเงื่อนไขต่างๆ ปัจจัยที่อาจเพิ่มความเสี่ยงโรค ได้แก่
– โรคภูมิต้านตนเอง รวมถึงกลุ่มอาการของ โรคโจเกรน (Sjogren’s syndrome) ลูปัส (Lupus) โรคข้อรูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis) กลุ่มโรคกิลแลง-บาร์เร (Guillain-barre syndrome) โรคเส้นประสาทอักเสบเรื้อรัง (Chronic inflammatory demyelinating polyneuropathy) และการอักเสบของผนังหลอดเลือด (Necrotizing vasculitis)
– โรคเบาหวาน เป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุด ผู้ป่วยโรคเบาหวานมากกว่า 50% มีโอกาสเป็นโรคปลายประสาทอักเสบ
– การติดเชื้อ ทั้งเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียบางชนิด เช่น โรคไลม์ (Lyme disease) โรคงูสวัด การติดเชื้อไวรัสเอ็บสไตบาร์ (Epstein-barr virus) ไวรัสตับอักเสบบีและ ซี โรคเรื้อน โรคคอตีบ และผู้ติดเชื้อเอชไอวี
– พันธุกรรม เช่น โรค Charcot-Marie-Tooth ซึ่งเป็นโรคทางระบบประสาทที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม
– เนื้องอกและมะเร็ง ที่กระจายไปยังเส้นประสาทหรือกดทับเส้นประสาท
– ความผิดปกติของไขกระดูก รวมถึงโรคที่เกิดจากการสะสมโปรตีนในเลือดที่ผิดปกติ (monoclonal gammopathies) โรคมะเร็งกระดูก มะเร็งต่อมน้ำเหลือง
– โรคอื่นๆ ได้แก่ โรคไต โรคตับ ความผิดปกติของเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน และโรคต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยเกินไป(Hypothyroidism)
– พิษสุราเรื้อรัง อาจนำไปสู่การขาดวิตามิน
– การสัมผัสกับสารพิษ เช่น ตะกั่วและปรอท
– ยาบางชนิด โดยเฉพาะยาที่ใช้รักษามะเร็ง (เคมีบำบัด)
– ภาวะบาดเจ็บที่กดทับเส้นประสาท จากอุบัติเหตุ หกล้ม หรือการเล่นกีฬา ที่สามารถทำลายเส้นประสาทส่วนปลาย นอกจากนี้ยังอาจเกิดจากแรงกดจากการเข้าเฝือกหรือใช้ไม้ค้ำยัน
– ภาวะขาดวิตามินบี 1 วิตามินบี 6 วิตามินบี 12 วิตามินอี และไนอาซิน ซึ่งมีความสำคัญต่อเส้นประสาท
ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากโรคปลายประสาทอักเสบ
เกิดบาดแผลบริเวณผิวหนัง เนื่องจากผู้ป่วยรู้สึกชา ส่งผลให้ไม่รู้สึกเจ็บจนเกิดแผลรุนแรงได้
การติดเชื้อ เมื่อเกิดบาดแผล อาจนำไปสู่การติดเชื้อโดยไม่รู้ตัว ดังนั้นผู้ป่วยควรดูแลบริเวณที่รู้สึกชาเป็นประจำและรักษาภาวะบาดเจ็บเล็กน้อยก่อนที่จะติดเชื้อ โดยเฉพาะผู้ป่วยเบาหวาน
หกล้ม ภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรงและการสูญเสียความรู้สึกอาจส่งผลให้ร่างกายเสียสมดุล หกล้มง่าย
การตรวจวินิจฉัยโรคปลายประสาทอักเสบ
แพทย์จะซักประวัติและอาการ จากนั้นตรวจร่างกายโดยเฉพาะบริเวณที่มีอาการ รวมถึงการตรวจเลือดเพื่อหาสาเหตุ นอกจากนี้อาจมีการส่งตรวจเพิ่มเติม ดังนี้
ตรวจการทำงานของเส้นประสาท (NCV) ด้วยการกระตุ้นด้วยไฟฟ้า โดยนำขั้วไฟฟ้า (Electrode) ติดไว้บนผิวหนัง เพื่อวัดค่าสัญญาณความเร็วและความแข็งแรงของเส้นประสาท
ตรวจคลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ (EMG) โดยการสอดเข็มเข้าไปทางผิวหนัง เพื่อวัดค่าคลื่นไฟฟ้าของกล้ามเนื้อ อาจทำควบคู่ไปกับการตรวจการทำงานของเส้นประสาท
เอกซเรย์ (X-Ray)
เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT-Scan)
เอกซเรย์ด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI)
ตรวจการทำงานของระบบประสาทอื่น ๆ
การรักษาภาวะปลายประสาทอักเสบ มีเป้าหมายเพื่อบรรเทาอาการ โดยการรักษาโรคหรือภาวะที่เป็นสาเหตุ ดังนี้
– ยาบรรเทาปวด เช่น ยาลดการอักเสบ (NSAIDs) กรณีอาการไม่รุนแรง
– ยารักษาโรคที่มีส่วนประกอบของโอปิออยด์ (Opioid) ซึ่งเป็นยาที่สั่งโดยแพทย์เท่านั้น ใช้รักษาในกรณีรักษาด้วยวิธีอื่น ไม่ได้ผล
– ยาใช้เฉพาะที่ เช่น ยาทาหรือยาแปะ เพื่อลดอาการปวด
– ใช้ไฟฟ้ากระตุ้นเส้นประสาทผ่านทางผิวหนัง (Transcutaneous electrical nerve stimulation) เพื่อลดความเจ็บปวด โดยทั่วไปใช้เวลาประมาณ 30 นาทีต่อวัน เป็นระยะเวลา 1 เดือน
– การเปลี่ยนถ่ายน้ำเหลือง (Plasmapheresis) เป็นการนำแอนติบอดี้และโปรตีนออกจากเลือด และนำเลือดที่ถูกกรองแล้วกลับเข้าไปในร่างกาย (บางกรณีอาจแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละราย)
– การให้อิมมูโนโกลบูลิน (Intravenous immunoglobulin) ผู้ป่วยจะได้รับโปรตีนในระดับสูงที่ทำหน้าที่เหมือนกับแอนติบอดี้ เพื่อยับยั้งระบบภูมิคุ้มกัน กรณีผู้ป่วยมีปัญหาการอักเสบ (บางกรณีอาจแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละราย)
– การผ่าตัด เพื่อลดแรงกดทับ กรณีผู้ป่วยมีสาเหตุจากการกดทับเส้นประสาท เช่น การกดทับจากเนื้องอก
– กายภาพบำบัด เพื่อช่วยพัฒนาการเคลื่อนไหวของร่างกาย รวมถึงใช้เครื่องช่วยพยุง ไม้เท้า นั่งรถเข็น หรือเครื่องช่วยเดิน
6 วิธี ลดอาการปวดปลายประสาท
1. รับประทานอาหารที่อุดมด้วยวิตามิน เช่น ผลไม้ ผัก ธัญพืชไม่ขัดสี และโปรตีนไขมันต่ำ เพื่อให้เส้นประสาทแข็งแรง
2. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อย 30 -60 นาที 3 ครั้งต่อสัปดาห์
3. อาบน้ำอุ่น ช่วยให้การไหลเวียนของเลือดดีขึ้น ลดอาการชา และความเจ็บปวดได้
4. งดเว้นการเคลื่อนไหวบริเวณที่มีอาการ เพื่อลดอาการปวดเส้นประสาท หากกลัวว่าจะเผลอ อาจใช้ผ้าพันแผลพันส่วนที่ปวด
5. เปลี่ยนท่าบ่อยๆ เนื่องจากปัญหาการกดทับของเส้นประสาท มีสาเหตุมาจากการเคลื่อนไหวท่าเดิมซ้ำๆ
6. หากอาการปวดรุนแรง ไม่สามารถบรรเทาได้ด้วยวิธีอื่น อาจรับประทานยาแก้ปวด ที่สามารถซื้อได้ตามร้านขายยา เช่น ยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) อย่างไรก็ตามควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร เพราะยาอาจส่งผลต่อร่างกายหรือโรคที่เป็นอยู่
ภาวะปลายประสาทอักเสบ เป็นโรคยอดนิยมของคนในยุคดิจิทัล ที่ใช้เวลากับการนั่งท่าเดิมๆ ไปกับสมาร์ทโฟนมากถึงวันละ 7-8 ชั่วโมง ด้วยพฤติกรรมการนั่งและใช้งานข้อมือซ้ำๆ อาจส่งผลให้เกิดอาการปวดและชาตามมือ เท้า อาการของโรคปลายประสาทอักเสบ ดูเหมือนไม่รุนแรง แต่หากปล่อยทิ้งไว้ อาจทำให้เกิดแผลโดยไม่รู้ตัว มีการติดเชื้อ รวมถึงการพลัดตกหกล้ม จากภาวะการทรงตัวผิดปกติ ส่งผลให้เกิดการบาดเจ็บได้
หากมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคปลายประสาทอักเสบ ควรรับการตรวจสุขภาพประจำปีสม่ำเสมอ เมื่อพบอาการผิดปกติควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษา เพื่อลดความเสียหายของเส้นประสาทส่วนปลายที่อาจมีมากขึ้น
สำคัญที่สุด คือการดูแลสุขภาพให้แข็งแรง รวมถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่อาจส่งผลให้มีการกดทับเส้นประสาท